สำหรับสรรพคุณในการรักษาโรคริดสีดวงทวาร พญ.ดวงรัตน์ เชี่ยวชาญวิทย์ และคณะ ได้ประเมินประสิทธิภาพของสมุนไพรเพชรสังฆาตกับผู้ป่วยที่เป็นโรคริดสีดวงทวารจำนวน 121 คน เปรียบเทียบกับยาแผนปัจจุบันอย่างดาฟลอน (Daflon) โดยผลการวิจัยพบว่าค่าเฉลี่ยคะแนนของการประเมินผลของสมุนไพรเพชรสังฆาตกับยาดาฟลอนไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และที่สำคัญยังพบว่าค่าใช้จ่ายของยาแคปซูลเพชรสังฆาตถูกกว่ายาดาฟลอนถึง 20 เท่าอีกด้วย ผลการวิจัยนี้จึงสรุปได้ว่าแคปซูลเพชรสังฆาตสามารถใช้ทดแทนยาดาฟลอนในการรักษาโรคริดสีดวงทวารได้เป็นอย่างดี
สำหรับสรรพคุณเรื่องกระดูก ในตำราแพทย์แผนโบราณทั่วไป สาขาเภสัชกรรม ของกองประกอบโรคศิลปะ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เพชรสังฆาต มีสรรพคุณ แก้กระดูกแตก หัก ซ้น ขับลมในลำไส้ แก้ริดสีดวงทวารหนัก ส่วนหมอพื้นบ้านนั้นใช้เถาตำละเอียดเป็นยาพอกบริเวณกระดูกหักช่วยลดอาการบวม อักเสบได้ น้ำคั้นจากเถาดื่มแก้เลือดออกตามไรฟัน แก้โลหิตระดูสตรีไม่ปกติ รักษาริดสีดวงทวารที่เริ่มเป็นระยะแรก ผลการทดลองใช้เถาเพชรสังฆาตในสตรีวัยทองซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดภาวะกระดูกพรุน พบว่าช่วยเพิ่มมวลกระดูกและรักษากระดูกแตก กระดูกหักได้ในขนาดรับประทาน ครั้งละ 2 แคปซูล (น้ำหนักแคปซูลละ 250 มิลลิกรัม) วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร
อย่างไรก็ตาม เพชรสังฆาต ยังมีข้อควรระวังที่สำคัญมากอยู่ คือวิธีการรับประทาน นพ. พิรัตน์ โลกาพัฒนา หรือหมอแมว แพทย์แผนกอายุรกรรม โรงพยาบาลยันฮี อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุว่า เพชรสังฆาต จัดว่าเป็นพืชที่มีผลึกของแคลเซียมออกซาเลต ซึ่งเป็นผลึกรูปเข็มจำนวนมาก หากเราเผลอเคี้ยวส่วนใดส่วนหนึ่งของเพชรสังฆาต ไม่ว่าจะเป็นใบ เถา หรือรากเข้าไปในปาก ผลึกที่ออกมาจะทิ่มชำแรกเข้าไปในเนื้อเยื่อของปาก และลำคอ ทำให้เกิดอาการปวดแสบปวดร้อน หรือบวมได้
ดังนั้น วิธีการทางเพชรสังฆาต คือการทานในรูปแบบของเม็ดแคปซูล ที่จะทำให้เพชรสังฆาตไม่สัมผัสกับอวัยวะภายในปากของเราโดยตรง หากอยากทานสดๆ ควรทานโดยกลืนลงคอไป ไม่ต้องเคี้ยว หากอยากกลืนง่ายๆ ให้สอดไส้ผลไม้ผิวลื่นอย่าง กล้วย แล้วค่อนกลืนลงไปพร้อมกัน เป็นต้น
อนึ่ง นพ. พิรัตน์ โลกาพัฒนา ยังกล่าวเสริมอีกว่า อาการปาก และคอบวมอักเสบจากการทานพืชที่มีผลึกออกซาเลต ยังสามารถพบได้ในพืชอีกหลายชนิด เช่น บอนสี โหรา (มีรูปร่างคล้ายบอน) เป็นต้น ดังนั้นแม้ว่าจะเป็นสมุนไพรที่มาจากธรรมชาติ แต่ก็ควรศึกษาวิธีทาน และสรรพคุณของสมุนไพรนั้นๆ รวมทั้งปริมาณในการทานอย่างละเอียดก่อนทาน เพราะอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายตั้งแต่คำแรกที่ทานได้
หากต้องการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทานสมุนไพรเพื่อรักษาโรค สามารถขอคำปรึกษาได้ที่ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เลขที่ 88/23 หมู่ 4 ถนนติวานนท์ ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000 โทรศัพท์ : (+66) 0-2591-7007 หรือที่เฟซบุ๊คแฟนเพจ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก